การจัดการความเสี่ยง (Risk Management) เป็นหนึ่งในกระบวนการหลักในการกำกับดูแลองค์กร นอกเหนือจากระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) และระบบควบคุมภายใน (Internal Control) ที่มีประสิทธิผล ในการจัดการความเสี่ยงสรุปเป็น 8 ขั้นตอนดังนี้
1. ระบุความเสี่ยง (Risk Identification):
ซึ่งอาจได้มาจาก
การทบทวนการดำเนินงาน กระบวนการ และทรัพย์สินของบริษัท
การสัมภาษณ์พนักงาน ผู้จัดการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
พิจารณาปัจจัยภายนอก เช่น แนวโน้มของตลาด การพัฒนาอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ
รายงานการตรวจสอบภายใน/ภายนอก และรายงานการตรวจสอบอื่น ๆ เช่น VA/Pentese
จำนวนอุบัติการณ์ที่เคยเกิดขึ้น
อื่น ๆ
2. จัดหมวดหมู่ความเสี่ยง:
นำความเสี่ยงที่ได้จากข้อที่ 1 มาจัดหมวดหมู เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ และทำให้เห็นมุมมองความเสี่ยงในภาพกว้างขององค์กร โดยอาจเเบ่งออกเป็น
ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) เช่น การแข่งขันทางการค้า, การเปลี่ยนแปลงของตลาด
ความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน (Operational Risk) เช่น ความล้มเหลวของกระบวนการ, ข้อผิดพลาดของมนุษย์
ความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk) เช่น ความผันผวนของตลาด, ความเสี่ยงด้านเครดิต, กระแสเงินสด, ลูกหนี้ค้างชำระ, หนี้ NPL
ความเสี่ยงในการปฏิบัติตามหฎหมาย/กฎระเบียบ (Compliance Risk) เช่น การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ความเสี่ยงต่อชื่อเสียง (Reputation Risk) เช่น ความเสียหายต่อแบรนด์ การรับรู้ของสาธารณชน)
3. ประเมินโอกาสและผลกระทบต่อความเสี่ยง (Risk Analysis):
ประเมินโอกาส (ความน่าจะเป็น) และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (ความรุนแรง) ของแต่ละความเสี่ยง โดยพิจารณาจาก
ข้อมูลในอดีต เกณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม และความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
มาตรการควบคุมที่มีอยู่ในปัจจุบัน
และกำหนดค่าระดับความเสี่ยงโดยอาศัยข้อมูลจากระดับโอกาสและผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปจะคำนวนจาก
ค่าระดับความเสี่ยง = ค่าโอกาส X ค่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ตัวอย่างการกำหนดระดับความเสี่ยงโดยวิเคราะห์จากค่าความเสี่ยง (1-5)
หมายเหตุ: ความเสี่ยงหลาย ๆ ความเสี่ยงมีความเชื่อมโยงระหว่างกันอาจส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน โดยผลกระทบนั้นอาจมีลักษนะที่เชื่อมโยงแบบโดมิโน
4. จัดลำดับความสำคัญความเสี่ยง (Risk Evaluation):
นำความเสี่ยงที่วิเคราะห์ได้มาจัดลำดับความสำคัญ โดยพิจารณาเน้นที่ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดสูง และความเสี่ยงที่มีผลกระทบสูง องค์กรควรพิจารณาในการจัดทำเกณฑ์ หรือระดับการยอมรับความเสี่ยง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วความเสี่ยงระดับต่ำ (Low) เป็นความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ ความเสี่ยงระดับสูงถึงสูงมาก (high-Extreme) เป็นความเสี่ยงที่โดยปกติแล้วไม่ควรยอมรับ นั่นหมายความว่าองค์กรควรต้องหาแนวทางในการจัดการเพื่อลดความเสี่ยงลง ในขณะเดียวกันความเสี่ยงระดับปานกลาง (Medium) เป็นความเสี่ยงที่องค์กรควรพิจารณาถึงความเพียงพอของมาตรการควบคุมที่มีปัจจุบัน ต้นทุนในการลดความเสี่ยงและผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อพิจารณาดำแนวทางในการดำเนินการต่อไป
โดยทั่วไปแล้วแนวทางในการจัดการความเสี่ยงที่นิยมกันจะมีอยู่ 4 แบบ คือ
ยอมรับความเสี่ยง (Accept)
การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Avoid)
การกระจาย/โอนความเสี่ยง (Transfer)
การลด/การควบคุมความเสี่ยง (Mitigate)
5. จัดทำแผนหรือกลยุทธ์ในการจัดการความเสี่ยง:
เมื่อได้ความเสี่ยงในแต่ละระดับแล้ว และพิจารณาแล้วว่าความเสี่ยงนั้น ๆ จะดำเนินการอย่างไร ก็จัดทำแผนหรือกลยุทธ์ในการจัดการความเสี่ยง โดยเจ้าของความเสี่ยง (Risk Owner) แผนการจัดการความเสี่ยงนั้นควรถูกนำเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็น และอนุมัติการดำเนินการ
6. ติดตามและทบทวนความเสี่ยง:
ปัญหาสำคัญที่การจัดการความเสี่ยงไม่มีประสิทธิผลคือไม่ระบบติดตามและทบทวนความเสี่ยง ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงการประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินงาน สภาวะตลาด หรือปัจจัยอื่น ๆ และติดตามประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลการลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
7. รายงานและสื่อสารความเสี่ยง:
ผู้บริหารมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการชี้นำ และตัดสินใจ ดังนั้นนำเสนอการประเมินความเสี่ยงและกลยุทธ์การบรรเทาผลกระทบต่อฝ่ายบริหาร คณะกรรมการ และผู้มีส่วนได้เสีย อย่างสม่ำเสมอ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงสำคัญจะช่วยให้การจัดการความเสี่ยงมีประสิทธิภาพ
8. การพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง:
ไม่มีหลักเกณฑ์/แนวทางไหนใช้ได้ดีไปได้ตลอด ความเสี่ยงระดับต่ำวันนี้อาจเป็นความเสี่ยงระดับสูงในวันพรุ่งนี้ การจัดการความเสี่ยงที่ดีในวันนี้ วันพรุ่งนี้อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว การพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวให้ทันต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ทำให้องค์กรเกิดการพัฒนา
No comments:
Post a Comment