ความคลาดเคลื่อนทางยา หมายถึง เหตุการณ์ความผิดพลาดเกี่ยวกับยาซึ่งเกิดขึ้นขณะที่ยาอยู่ในความควบคุมของบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพ อันอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การใช้ยาไม่เหมาะสมหรือเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย แต่เป็นเหตุการณ์ที่สามารถป้องกันได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากตัวบุคคลที่หน้างาน (active หรือ human error) หรืออาจเป็นความล้มเหลวในเชิงระบบที่ฝังตัวมานานแล้ว (latent error) แต่ไม่มีใครสังเกต จนกระทั่งเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดพลาดที่หน้างานโดยตัวบุคคล ซึ่งเมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุเชิงลึกแล้วพบว่ามีความเกี่ยวโยงกัน ต้องแก้ไขหรือวางระบบใหม่ จึงจะป้องกันการเกิดความคลาดเคลื่อนซ้ำได้อย่างยังยืน
ความคลาดเคลื่อนทางยาประเภทต่าง ๆ
1. ความคลาดเคลื่อนในการสั่งใช้ยา (prescribing error) หมายถึง ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นในกระบวนการสั่งใช้ยาของแพทย์ที่ส่งผลกระทบทางคลินิก เช่น
- การสั่งใช้ยาที่ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ หรือผู้ป่วยที่มีข้อห้ามใช้ (เช่น ยาที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วย G6PD เป็นต้น)
- การสั่งใช้ยาในขนาดที่มากหรือน้อยเกินไป
- การสั่งใช้ยาในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม
- การสั่งใช้ยาที่มีปฏิกิริยากันหรือมีปฏิกิริยากับยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่ก่อนแล้ว
- การสั่งใช้ยาซ้ำซ้อน
- การสั่งใช้ยาที่มีวิถีทางให้ยาที่ไม่เหมาะสม และอัตราเร็วในการให้ยาไม่เหมาะสม เป็นต้น
กระบวนการสำคัญที่จะช่วยค้นหา prescribing error และแก้ไขได้ก่อนถึงผู้ป่วย ได้แก่ การทบทวนคำสั่งใช้ยาโดยเภสัชกรก่อนเริ่มจัดยา และกระบวนการ medication reconciliation นอกจากนี้พยาบาลที่รับคำสั่งแพทย์โดยตรง หากพบความคลาดเคลื่อนในคำสั่งแพทย์ก็จะเป็นการค้นหา prescribing error ได้อีกทางหนึ่ง
2. ความคลาดเคลื่อนในการถ่ายทอดคำสั่ง (transcribing error) หมายถึง การถ่ายทอดคำสั่งแพทย์ที่มีความคลาดเคลื่อน เช่น
- การรับคำสั่งการใช้ยาทางโทรศัพท์คลาดเคลื่อน
- การอ่านคำสั่งแพทย์ผิด
- การคัดลอกผิด
- การบันทึกคำสั่งในคอมพิวเตอร์ผิด เป็นต้น
ปัจจุบันในโรงพยาบาลต่าง ๆ แพทย์เป็นผู้บันทึกคำสั่งใช้ยาผ่านระบบบคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง ความคลาดเคลื่อนในการถ่ายทอดคำสั่งในประเด็นของการคัดลอกจึงมีน้อยลง แต่ก็ยังมีหลงเหลืออยู่ในกรณีรับคำสั่งแพทย์ทางโทรศัพท์
3. ความคลาดเคลื่อนในการจ่ายยา (dispensing error) หมายถึง ความคลาดเคลื่อนในกระบวนการจ่ายยาของกลุ่มงาน/ฝ่ายเภสัชกรรม ที่จ่ายยาไม่ถูกต้องตามที่ระบุในคำสั่งใช้ยา เช่น
- จ่ายยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุ
- จ่ายยาที่ไม่มีคำสั่งใช้ยา (unauthorized drug)
- ผู้ป่วยได้รับยาที่มีฉลากยาผิด ชื่อผู้ป่วยผิด
- จ่ายยาที่มีปฏิกิริยากัน
- จ่ายยาที่ผู้ป่วยมีข้อห้ามใช้ เป็นต้น
การจ่ายยาคลาดเคลื่อนในแผนกผู้ป่วยนอกส่วนใหญ่จะตรวจพบได้ต่ำกว่าที่เกิดขึ้นจริง แต่จะสามารถค้นหาได้จากการสอบถามผู้ป่วยภายหลังจากการจ่ายยา จากการเยี่ยมบ้าน จากการที่ผู้ป่วยเอายาเดิมที่เคยได้รับมาให้ตรวจสอบดู จากการติดตามการรักษาในการมาพบแพทย์ครั้งต่อไป และจากการ cross check ของพยาบาลที่แผนก ER ห้องฉีดยา หรือกลุ่มงานเวชกรรมในการจ่ายยาผู้ป่วยใน เมื่อยาถูกส่งออกจากห้องยาขึ้นหอผู้ป่วยหลังผ่านการตรวจสอบจากเภสัชกรแล้ว พยาบาลบนหอผู้ป่วยจะต้องตรวจสอบยาที่ถูกส่งขึ้นไปโดยวิธีการ cross check ระหว่างวิชาชีพ ด้วยการนำยาที่ส่งมาจากห้องยาไปตรวจสอบกับใบให้ยา (Medication administration record หรือที่เรียกกันว่าใบ MAR) ซึ่งพยาบาลเป็นผู้คัดลอกจากคำสั่งแพทย์ หรือตรวจสอบกับ doctor order sheet โดยตรงกระบวนการตรงนี้สำคัญมากในการดักจับความคลาดเคลื่อน เมื่อพบความคลาดเคลื่อนจะบันทึกเป็น dispensing error IPD และแจ้งเภสัชกรเพื่อขอเปลี่ยนยาก่อนที่จะผ่านไปถึงการบริหารยา
หนังสือกรอบงานพื้นฐานระบบยา, สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย), พ.ศ.2563, หน้า 31-34
No comments:
Post a Comment